วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ห้องสมุดกับการเรียนรู้สารสนเทศ

ห้องสมุดกับการเรียนรู้สารสนเทศ
ความหมายของห้องสมุด
ห้องสมุด หมายถึง แหล่งสารนิเทศที่รวบรวมทรัพยากรสารนิเทศในรูปวัสดุตีพิมพ์ ได้แก่ วารสาร หนังสือพิมพ์ จุลสาร กฤตภาค และวัสดุไม่ใช่สิ่งตีพิมพ์
 
ความสำคัญของห้องสมุด
-          ห้องสมุดเป็นที่รวบรวมแห่งวิทยาการต่าง ๆ ผู้ใช้สามารถค้นหาความรู้ได้ทุกสาขาวิชา โดยเฉพาะห้องสมุดสถาบันการศึกษา  จะมีหนังสือทุกสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอน
-          ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่ทุกคนจะเลือกอ่านหนังสือ และค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ได้ โดยอิสระ
-          ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดพอใจที่จะอ่านหนังสือต่าง ๆ โดยไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำให้เกิดนิสัยรักการอ่าน สามารถมองเห็นความแตกต่างของหนังสือได้ว่าเล่มใดเขียนได้ดี
-          ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีความรู้ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ เพราะห้องสมุดมีข่าวสารใหม่ ๆ ไว้ให้บริการ
-          ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีนิสัยรักการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง
-          ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
-          ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดรู้จักใช้สมบัติสาธารณะ และระวังรักษาอย่างถูกต้อง
-          ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
-          ห้องสมุดช่วยเป็นสถานที่ฝึกความเป็นประชาธิปไตย เพราะต้องรู้จักปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ
-          ห้องสมุดมีบทบาทต่อการศึกษา และมีส่วนเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีแก่ผู้ใช้ห้องสมุด
บทบาทของห้องสมุด
-          ด้านการศึกษา การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศทุกด้าน การศึกษาในปัจจุบันเน้นความสำคัญของห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ห้องสมุดมีบทบาทในการสนับสนุนการศึกษาในระบบ และการศึกษาต่อเนื่องของประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียน
-          ด้านวัฒนธรรม บำรุงรักษาวัฒนธรรมชาติให้คงอยู่สืบทอดไปยังอนุชนรุ่นหลังเพราะห้องสมุดเป็นแหล่งสะสมสารนิเทศที่ช่วยส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม
-          ด้านเศรษฐกิจ ห้องสมุดก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ห้องสมุดช่วยให้เกิดการผลิต การจำหน่าย และการหมุนเวียนหนังสือ วัสดุอุปกรณ์ ห้องสมุดช่วยสร้างงานและสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถพัฒนาอาชีพให้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
-          ด้านการเมือง ส่งเสริมด้านการเมืองการปกครอง ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองของประเทศตน และประเทศอื่น ๆ

วัตถุประสงค์ของห้องสมุด
-          เพื่อการศึกษา ( Education )การศึกษาในปัจจุบันมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา รู้จักศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความรู้เพิ่มเติมจากที่เรียนในชั้นเรียน รวมทั้งผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย ก็สามารถใช้ห้องสมุดศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ตลอดชีวิต
-          เพื่อให้ความรู้และข่าวสาร( Information )ในปัจจุบันวิทยาการสาขาต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ห้องสมุดเป็นแหล่งกลางสำหรับศึกษาวิทยาการใหม่ ๆ และติดตามข่าวความเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกประเทศทั่วโลก  ทำให้เป็นคนที่มีความรู้ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ ทันโลก มีความคิดริเริ่มใหม่ๆที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
-          เพื่อการค้นคว้าวิจัย ( Research ) ห้องสมุดเป็นสถานที่รวบรวมวิทยาการต่าง ๆ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ ผู้ที่จะทำการวิจัยเรื่องใหม่  ๆ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเบื้องต้นจากเรื่องที่มีอยู่เดิมเสียก่อน ห้องสมุดจึงมีบทบาทสำคัญในการวิจัย
-          เพื่อความจรรโลงใจ ( Inspiration ) การอ่านหนังสือนอกจากจะได้รับความรู้แล้วยังก่อให้เกิดความสุขทางใจ ความซาบซึ้งประทับใจในความคิดที่ดีงาม ให้ความจรรโลงใจในสิ่งที่ดีแก่ผู้อ่านเป็นสิ่งบันดาลให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
-          เพื่อนันทนาการ ( Recreation ) การอ่านหนังสือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะผู้อ่านจะได้รับทั้งความรู้ ความเพลิดเพลิน และความพึงพอใจ
องค์ประกอบของห้องสมุด
                ห้องสมุดประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
-          อาคารสถานที่ ห้องสมุดอาจเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร หรือเป็นอาคารเอกเทศ ตั้งอยู่ในที่ที่สะดวกในหารเดินทาง ปราศจากเสียงรบกวนทำลายสมาธิ อากาศและแสงสว่างเพียงพอ ควรจัดสถานที่ให้สวยงาม สะอาด เรียบร้อย มีโต๊ะเก้าอี้นั่งสบาย ติดเครื่องปรับอากาศเพื่อเป็นการดึงดูดใจให้เข้ามาใช้ห้องสมุด
-          บุคลากร ห้องสมุดทุกแห่งจำเป็นต้องมีบรรณารักษ์ ซึ่งมีคุณวุฒิทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ พนักงานพิมพ์ดีด นักการภารโรงในจำนวนที่เพียงพอ
-          งบประมาณ ต้องมีงบประมาณอย่างพอเพียงเป็นประจำทุกปี เพื่อนำมาใช้จ่ายในการจัดหนังสือ วัสดุสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งโสตทัศนวัสดุ และนำมาใช้ในการดำเนินงานและให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุดได้
-          วัสดุห้องสมุด นอกจากหนังสือ ห้องสมุดจะต้องมีวารสาร หนังสือพิมพ์ จุลสาร กฤตภาค แผนที่ รวมทั้งโสตทัศนวัสดุ
-          การจัดการบริหารงาน มีการจัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ งานบริหาร งานเทคนิค งานบริการและกิจกรรม และแบ่งย่อยออกเป็นแผนกต่าง ๆ เพื่อความสะดวกของผู้ใช้ห้องสมุดและมีการจัดบริการแก่ผู้ใช้อย่างกว้างขวาง
-          การวิเคราะห์เลขหมู่หนังสือตามระบบสากล มีการแบ่งแยกหนังสือออกเป็นประเภท  ๆ โดยใช้วิธีวิเคราะห์เลขหมู่หนังสือตามระบบสากล และมีบัตรรายการสำหรับผู้ใช้ห้องสมุดค้นหาหนังสือที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
-          มีวิธีจัดชั้นหนังสือแบบชั้นเปิด ( Open Shelves ) คือ ให้ผู้ใช้ห้องสมุดได้เข้าถึงตู้หรือชั้นหนังสือที่เปิดโล่ง ไม่มีการใส่กุญแจตู้ เพื่อให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีโอกาสเลือกหยิบหนังสือที่ต้องการได้ด้วยตนเอง
-          มีการให้บริการอย่างกว้างขวาง นอกจากบริการให้ยืมและรับคืนหนังสือแล้วห้องสมุดควรจัดบริการอย่างอื่น ๆ ให้แก่ผู้ใช้อย่างกว้างขวาง เช่น บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า บริการแนะนำการอ่าน บริการจัดนิทรรศการ บริการหนังสือจอง บริการสอนแนะนำการใช้ห้องสมุด บริการจัดทำคู่มือการเรียนการสอน
-          การออกแบบสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เป็นการเผยแพร่โฆษณา เช่น จัดทำคู่มือการใช้ห้องสมุด รายชื่อหนังสือใหม่ พร้อมทั้งทำบรรณนิเทศสังเขป โปสเตอร์เกี่ยวกับหนังสือ และห้องสมุด
-          มีการสอนวิธีการใช้หนังสือและห้องสมุด บริการนี้มีความจำเป็นมากสำหรับห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย นิสิต นักเรียน นักศึกษา ที่รู้จักวิธีใช้หนังสือและห้องสมุดย่อมค้นคว้าวิชาการได้มากกว่าผู้ที่ไม่รู้จักวิธีการใช้หนังสือและห้องสมุด
-          ส่งเสริมความเจริญของสังคม โดยการขยายกิจการและบริการสู่สังคม หรือประชาชนให้มากที่สุด ปัจจุบันนี้ห้องสมุดแทบทุกแห่งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้บริการของห้องสมุดได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น